มีบทความหนึ่งน่าสนใจเขียนโดยซิลวิโอ พอเซลลาน่า (Silvio Porcellana) ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง mob.is.it เป็นการตอกย้ำกว่าเรื่องการมีโมบายแอพ (Mobile App) เป็นของตัวเองเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็กที่ต้องการสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ ซึ่งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มมีการใช้สมาร์ทโฟนกันอย่างแพร่หลาย เราจะเห็นว่าธุรกิจที่มีโมบายแอพ มักจะเป็นธุรกิจที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก มีงบการตลาดแบบมหาศาล แต่สถานการณ์ปัจจุบันได้พลิกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า ณ ขณะนี้ จำนวนโมบายแอพ (Mobile App) ที่อยู่บนทั้ง Android และ IOS มีมากกว่าสองล้านโมบายแอพพลิเคชั่น (Mobile Application) เข้าไปแล้ว
แต่ที่เห็นแนวโน้มกันชัดๆ คือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหันมาลงทุนจ้างพัฒนาโมบายแอพ (Mobile App) ของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มักจะมีคำถามว่าเราจะได้ประโยชน์จริงแท้แน่เหรอจากการลงทุนมหาศาลเมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจ แต่ก่อนจะด่วนสรุปว่าไม่มีประโยชน์ ต้องมาดูข้อมูลจาก Ericsson Mobility Report ปี 2560 กันนะครับว่า ปี 2559 คนไทยมีสมาร์ทโฟน (Smartphone) มากกว่า 50 ล้านเครื่อง ซึ่งกระโดดจากปี 2558 ที่มี 40 ล้านเครื่อง และประมาณการณ์ว่าในปี 2564 ประเทศไทยอาจจะมีจำนวนสมาร์ทโฟน (Smartphone) กว่า 80 ล้านเครื่อง (มากกว่าประชากรในประเทศไทยเสียอีก!!) เรียกง่ายๆ ว่าเข้าสู่สังคมคนก้มหน้าอย่างสมบูรณ์แบบเรียบร้อยแล้วครับ (ตามหลังสังคมผู้สูงอายุเล็กน้อย)
คำถามต่อมาคือแล้วเราในฐานะผู้ประกอบการจะทำอย่างไรให้มีโมบายแอพของตัวเองแบบถูกหลัก เพราะว่าหลายท่านอาจจะเจอมาหลายคนที่ทำโมบายแอพแล้วก็ไม่ได้ใช้งาน ทั้งนี้เนื่องจากการออกแบบฟีเจอร์และฟังก์ชั่นไม่ถูกหลักและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งเรามาดูกันว่าผู้เชี่ยวชาญแบบซิลวิโอเค้ามีความเห็นอย่างไรว่าทำไมต้องนำโมบายแอพ (Mobile App) มาใช้ในทางธุรกิจ
1. เพราะโมบายแอพ (Mobile App) เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการทำโปรโมชั่น
บริษัทหลายแห่งเชื่อว่าการออกแบบเว็บไซต์ให้สวยๆ และรองรับการแสดงผลบนมือถือหรือแทบเล็ตก็เพียงพอสำหรับการสร้างภาพลักษณ์และสื่อสารในทางธุรกิจให้ประสบความสำเร็จแล้ว แต่เอาเข้าจริงเว็บไซต์เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการ และโปรโมตธุรกิจของเราผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น แต่โมบายแอพ (Mobile App) เป็นเครื่องมือที่เร็วกว่า ง่ายกว่า และล้ำกว่าในการขายสินค้าและปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจหรือแบรนด์ของเรา ซึ่งหลักการในการขายสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางดิจิทัลในยุคนี้มีสามคำคือ “เร็ว (Quick)” “ง่าย (Simple)” และ “สนุก (Fun)” ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าทุกคนคาดหวังกับประสบการณ์ที่ดีในการซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งหากผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือเพียง 30% ซื้อสินค้าบนอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟน แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะบอกว่าทำไมธุรกิจของเราต้องขยายช่องทางไปรองรับลูกค้าในช่องทางที่หลากหลาย (Multi-Channels)
ซึ่งไม่เพียงแค่การนำเสนอสิ่งดีๆ เพิ่มให้กับลูกค้าเท่านั้น การนำเสนอผ่านโมบายแอพยังเป็นเครื่องมือและแพลตฟอร์มการโปรโมตสินค้าหรือบริการที่ทรงประสิทธิภาพมาก ผู้ใช้งานโทรศัพท์ที่ค้นหาแอพบนแอพสโตร์จะมีโอกาสรับรู้ถึงแบรนด์ของเรา แม้จะแค่เลื่อนผ่านตา แต่ก็ยังได้รับรู้ว่ามีแอพหรือธุรกิจของเราอยู่ในโลกใบนี้ แต่ถ้าไอคอนหรือโลโก้ของเราสะดุดตานี่ก็คือโอกาสในทางธุรกิจทันที ซึ่งในครั้งแรกก็เป็นไปได้ว่าผู้ใช้งานยังไม่ดาวน์โหลดแอพของเรามาใช้ แต่ก็ยังมีโอกาสได้รับการดาวน์โหลดในอนาคตเมื่อผู้ใช้งานกลับมาค้นหาแอพอีกรอบ
2. ธุรกิจเข้าถึงและได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นแบบคาดไม่ถึง
ทุกวันนี้ใครๆ ก็พูดถึงแต่การตลาดหลากหลายช่องทาง (Multichannel Marketing) ซึ่งผู้อ่านหลายท่านก็คงจะสงสัยว่ามันคืออะไร คำตอบแบบง่ายๆ ก็คือลูกค้ามักจะซื้อสินค้าจากเราถ้าเรามีช่องทางหลากหลายให้ลูกค้าได้เลือก เช่น ทางออนไลน์ ทางแคทตาล๊อก ทางโทรศัพท์ หรือแม้แต่โมบายแอพ (Mobile App) ขึ้นกับว่าจริตหรือพฤติกรรมของแต่ละคนสะดวกช่องทางไหน (ไม่เชื่อลองดูคนรอบข้างก็ได้ครับว่ามีบางคนมั๊ยครับที่ซื้อสินค้าแบบไม่เคยกดโทรศัพท์เพื่อถามเลย แต่ใช้วิธีการพูดคุยผ่านไลน์และจ่ายเงินผ่าน Mobile เป็นหลัก) ซึ่งการมีช่องทางที่หลากหลายไม่เพียงแต่เป็นทางเลือกให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางที่หลากหลายในการทำการตลาด และได้รับการบอกต่อไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อีกด้วย
นอกจากนี้เรายังสามารถที่จะใส่ฟังก์ชั่นหลักๆ เข้าไปในโมบายแอพที่ให้ลูกค้าปัจจุบันไปชักชวนลูกค้าใหม่ๆ ที่เป็นเพื่อนให้มาซื้อสินค้าหรือบริการกับเราได้อีก ซึ่งเป็นเทคนิคการตลาดที่ได้ผลชะงักมาก ตราบใดที่เรามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ยิ่งเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาทันที
3. การใช้โมบายแอพเป็นช่องทางในการเพิ่มรายได้
แน่นอนครับว่าเจ้าของธุรกิจทุกรายไม่มีใครไม่อยากได้รายได้เพิ่ม ซึ่งการเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงผ่านโมบายแอพ (Mobile App) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งวิธีการในการเพิ่มรายได้ก็คือเราต้องใช้โมบายแอพ (Mobile App) ในการแจ้งเตือนลูกค้าถ้ามีโปรโมชั่นใหม่ๆ (Notification Push) แทนการแจกโบรชัวร์ ซึ่งอันนี้ทุกท่านคงจะรับทราบด้วยความเจ็บปวดว่าโบรชัวร์ที่เราเอาไปแจกมักจะอยู่ในถังขยะเป็นจำนวนมาก นอกจากจะใช้แจ้งเตือนโปรโมชั่นแล้ว สิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าทองคำเสียอีกนั่นก็คือข้อมูลสถิติของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการกับเรานั่นเอง ซึ่งข้อมูลที่ประเมินค่าไม่ได้พวกนี้เราไม่มีทางจะเก็บได้จากลูกค้าที่เดินบนถนนแล้วเข้ามาซื้อของและจากไปเป็นแน่แท้
หลายท่านอาจจะบอกว่าไม่เห็นต้องมีโมบายแอพก็แจ้งเตือนลูกค้าได้ (Notification Push) เพราะเราก็ใช้อีเมลส่งไปแจ้งโปรโมชั่น แต่อย่าลืมนะครับว่าพวกเราทุกวันนี้จะมีกี่คนที่เปิดเมล์อ่านพวกโปรโมชั่น ถ้าไม่ใช่สนใจหรือใกล้ตัวจริงๆ ในขณะที่ความเก่งของโมบายแอพก็คือสามารถส่งแจ้งเตือนโปรโมชั่นต่างๆ ไปยังมือถือได้ทันที และที่สำคัญยังสามารถแบ่งวิเคราะห์แยกตามความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องระวังในเรื่องความถี่ในการแจ้งเตือนด้วยครับ มิฉะนั้นจะเป็นการรบกวนและไล่ลูกค้าแบบที่เราไม่รู้ตัวได้
โมบายแอพไม่เพียงแต่ช่วยเรื่องระบบการจัดการโปรโมชั่นที่ยิงได้ถึงรายคนเท่านั้น แต่ยังเก็บข้อมูลได้ลึกถึงระดับสถานที่ที่ลูกค้านั้นอยู่หรือเดินผ่านไปมาแถวนั้นด้วย (งานนี้ยกความดีความชอบให้ระบบ GPS เต็มๆ) รวมไปถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าอีกด้วย ซึ่งหมายถึงเราสามารถส่งโปรโมชั่นดีๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้โดยตรง โดยที่ไม่ต้องหว่านแบบ Mass เหมือนที่ทำกันอีกแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าเราใช้แรงน้อยกว่าเดิมในการได้มาซึ่งลูกค้าที่แฮปปี้
4. สร้างความภักดีต่อสินค้าหรือแบรนด์
นักการตลาดทุกคนทราบดีว่าการสร้างความภักดีต่อสินค้าหรือแบรนด์ (Brand Loyalty) คือตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดตัวหนึ่งในกิจกรรมด้านการตลาด นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทใหญ่ๆ จึงได้ทุ่มเทความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ เพราะว่าต้นทุนในการรักษาลูกค้าเก่าย่อมต่ำกว่าต้นทุนในการหาลูกค้าใหม่อยู่เสมอ ด้วยโมบายแอพที่ทำให้เราอยู่บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือของลูกค้าเสมอ เราสามารถสร้างการจดจำที่ดีให้กับลูกค้าได้อย่างไม่ยากด้วยการที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ยังเข้าถึงและติดต่อเราได้เสมอ เช่น ตรวจสอบคะแนนสะสม ดูส่วนลด สั่งซื้อสินค้า จ่ายเงิน ฯลฯ ซึ่งกรณีนี้สตาร์บัคทำได้อย่างดีมากในเรื่องของการสร้างความภักดีต่อแบรนด์ โดยใช้โมบายแอพ (Mobile App) ลองสังเกตก็ได้ครับว่าลูกค้าที่ซื้อสินค้าที่สตาร์บัคหลายท่านจ่ายเงินด้วยโมบายแอพ แทนที่จะเป็นบัตรสะสมคะแนนหรือเงินสด ซึ่งหลักการของเรื่องนี้ก็คือ ทำอย่างไรให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการซื้อสินค้าและบริการ โดยมีขั้นตอนที่น้อยที่สุดนั่นเอง
5. ล้ำหน้าคู่แข่ง
ในการที่จะชนะใจลูกค้ามากกว่าที่คู่แข่งทำได้ เราต้องนำเสนอสินค้าและบริการที่เหนือกว่า มีความคุ้มค่ากว่า และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้มากกว่า คำถามต่อมาคือเราจะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าผ่านโมบายแอพ (Mobile App) ได้อย่างไร โปรดดูรายการข้างล่างนี้นะครับ
- ออกแบบหน้าจอที่เน้นประสบการณ์การใช้งานที่ดี (User Experience, UX) โดยมีเมนูที่เข้าได้ไม่ยาก ไม่สร้างความสับสน และกำหนดตำแหน่งของปุ่มต่างๆ ที่ไม่ย้อนแย้งกับพฤติกรรมการใช้งาน
- ออกแบบขั้นตอนการซื้อสินค้าและชำระเงินแบบทีละขั้นตอน อย่าเอาทุกอย่างใส่ในหน้าจอเดียว เพราะอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือไม่ใช่หน้าจอคอมพิวเตอร์
- มีหลายทางเลือกในการชำระเงิน
- มีระบบแจ้งเตือน (Push notifications) ข้อความเสนอโปรโมชั่น และส่วนลด
- อย่าลืมมีโลโก้ของตัวเองบนโมบายแอพ
- มีฟังก์ชั่นที่รองรับเพื่อนแนะนำเพื่อน
- มีฟังก์ชั่นในการให้บริการลูกค้าที่ง่ายและสะดวก
เพียงเท่านี้ผู้ประกอบการก็สามารถมีโมบายแอพ (Mobile App) ได้แบบง่ายๆ และถูกต้องตามหลักการแล้วครับ
ที่มา: 5 REASONS YOUR BUSINESS NEEDS A MOBILE APP
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมราคาโมบายแอพสำเร็จรูป โปรโมชั่นพิเศษ โทร! 02-675-9371
092-262-6390
097-008-6314 (ฝ่ายขาย)
support@mobinster.com
Official LINE@: @mobinster