SaaS (Software as a Service) คืออะไร? ทำไมใคร ๆ ก็ใช้ SaaS?

เชื่อว่าหลายคนที่ติดตามข่าวสารเทรนด์ธุรกิจหรือแม้แต่คนทั่วไปในชีวิตประจำวันเองคงจะได้ยินคำว่า ‘SaaS’ หรือ ‘Software as a Service’ มาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่เร่งให้หลายองค์กรต้องปรับตัวเพื่อรองรับการทำงานทางไกลมากขึ้น SaaS ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีปริมาณความต้องการสูงขึ้นมาก 

โลกยุคดิจิทัล หันไปทางไหนใคร ๆ ก็ใช้ SaaS ทว่า SaaS แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่ สำคัญมากแค่ไหนยังคงเป็นเรื่องที่หลายคนตั้งคำถาม ดังนั้นในบทความนี้ เราจะมาคลายข้อสงสัยนี้กัน

SaaS คืออะไร?

SaaS หรือ Software as a Service แปลตรงตัวได้ว่า การให้บริการในด้านซอฟต์แวร์ ในที่นี้คือการให้บริการระบบซอฟต์แวร์รูปแบบหนึ่งที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต หรือที่รู้จักกันในอีกนามว่าเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ระบบ Cloud นั่นเอง

ตัวอย่างของ SaaS ที่คุ้นเคยกันดีก็อย่างเช่นอีเมล ที่เราสามารถเชื่อมต่อเน็ตแล้วคลิกเข้าไปรับส่งอีเมลได้เลยโดยไม่ต้องโหลดโปรแกรม หากขยับการใช้งานให้หลากหลายมากขึ้นก็จะพบ Dropbox, Google Workspace, Zendesk ที่ล้วนเป็น SaaS ที่ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน 

ข้อได้เปรียบของ SaaS ที่แตกต่างจากการใช้งานเดิม ๆ ก็คือผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องลงทุนในการซื้อ Hardware เช่น Server หรือ Harddisk เพื่อใช้ในการประมวลผล จัดเก็บข้อมูลเลยแม้แต่น้อย ไม่ต้องคอย Backup อัปเกรดระบบหรือพัฒนาระบบเอง เพราะทุกข้อมูลจะถูกจัดเก็บไว้โดยผู้ให้บริการผ่านระบบ Cloud ลักษณะของการซื้อซอฟต์แวร์ SaaS จึงอยู่ในรูปแบบของการซื้อ License คล้ายกับการเช่าใช้ โดยคิดค่าบริการตามลักษณะการใช้งานจริง เช่น จำนวนผู้ใช้งาน ระยะเวลาการใช้ ซึ่งถือว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการติดตั้งและดูแลระบบไปได้มหาศาล

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เราจะมาแตกแยกกันไปทีละข้อกันว่า SaaS มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง คุ้มค่าแค่ไหนที่จะลงทุน

ข้อดีของ SaaS

  • ใช้ต้นทุนต่ำ เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับการติดตั้งบำรุงรักษา อัปเดตระบบ หรือการจัดเก็บข้อมูล
  • สามารถใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลาเพียงแค่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
  • SaaS ไม่จำกัดประเภทของคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะใช้ Window หรือ Mac ก็สามารถใช้งานได้ หรือใช้งานผ่านอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์
  • ผู้ให้บริการสามารถอัปเดตระบบได้ง่าย ๆ ผ่านระบบกลาง ไม่ต้องอัปเดตแยกทีละเครื่องให้วุ่นวาย
  • ข้อมูลไม่สูญหาย และสามารถจัดเก็บได้ง่ายขึ้นเพราะถูกรวมอยู่ในศูนย์กลางที่เดียวกัน เวลาทำงานระบบก็มักจะบันทึกงานให้โดยอัตโนมัติ ต่างจากซอฟต์แวร์ติดตั้งที่ต้องลงทุนหาวิธีสำรองข้อมูลหากว่าฮาร์ดแวร์นั้น ๆ พัง
  • SaaS คิดค่าบริการเป็นแบบ License หรือจำกัดระยะเวลาใช้งานเป็นรายเดือน รายปี หากไม่ใช้ก็สามารถยกเลิก License ได้ ยืดหยุ่นกว่าซอฟต์แวร์แบบถาวรที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ทีเดียว

แล้วข้อเสียล่ะ?

  • ปัญหาด้านการเชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ตสำคัญต่อ SaaS มาก หากว่าเน็ตไม่เสถียรก็ส่งผลต่อการใช้งานได้
  • ปรับแต่งขยายเพิ่มเติมได้จำกัด เพราะเป็นซอฟต์แวร์ที่ขึ้นกับผู้ให้บริการเป็นหลัก แต่ก็มี SaaS หลาย ๆ ซอฟต์แวร์ที่มีการอัปเดตและพัฒนาระบบให้ตรงความต้องการของผู้ใช้งานมากขึ้น ยกตัวอย่าง Zendesk ที่มี Integration ให้ผู้ใช้งานสามารถติดตั้งซอฟต์แวร์อื่นเพื่อประสานการทำงานด้วยกันได้ หรือ Zendesk Sunshine ที่ให้ผู้ใช้เชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ ได้แบบ out of the box
  • ผู้ใช้งานไม่มีกรรมสิทธิ์ในตัวระบบ เพราะเป็นลักษณะของการซื้อ License ต้องต่ออายุการใช้งานตามรายเดือน รายปี หรือตามแต่เงื่อนไขที่ระบุไว้
  • ปัญหาด้านความปลอดภัยของข้อมูล การเลือก SaaS มาปรับใช้จึงสมควรพิจารณาด้านความน่าเชื่อถือของ SaaS นั้นด้วย

แม้จะมีข้อดีข้อเสียชนิดที่ต้องพิจารณากันไป SaaS ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก BMC Blog ได้คาดคะเนการเติบโตของระบบ IT ว่าธุรกิจจะลงทุนกับ Cloud เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 6.3% ของทุกปี ไม่เพียงแค่นั้น Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลกเองก็ได้คาดการณ์ไว้ว่าตลาด SaaS จะยังเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอีกในปี 2021 นี้ แม้ว่าในปี 2020 ที่ผ่านมาเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 จะทำให้หลายองค์กรหันมาให้ความสนใจ SaaS มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัวแล้วก็ตาม

การนำ SaaS มาปรับใช้กับธุรกิจจึงถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก ยิ่งในปัจจุบันที่หลายตลาดแข่งขันสูง การมีระบบที่จะช่วยให้องค์กรทำงานเป็นระเบียบมากขึ้น ตอบโจทย์การทำงานทางไกล ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้องค์กรก้าวต่อไปได้

ในแต่ละ SaaS จะมีแยกย่อยตามประเภทการใช้งานแตกต่างกัน ทว่าหากพูดถึง SaaS ที่ช่วยด้านการบริการลูกค้าที่น่าสนใจจนเลี่ยงกล่าวถึงไม่ได้ก็คือ Zendesk ซอฟต์แวร์สร้างประสบการณ์ลูกค้าที่ช่วยยกระดับการบริการและการขายให้หลายองค์กรทั่วโลกมาแล้วมากมาย คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

Official LINE