ทุกวันนี้ ‘ข้อมูล’ เรียกได้ว่าเป็นขุมสมบัติอันล้ำค่าสำหรับการทำธุรกิจ เพราะธุรกิจในทุกวันนี้แทบจะต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ ถ้าหากธุรกิจของคุณไม่มีข้อมูลหรือมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอ นั่นอาจทำให้ธุรกิจของคุณสูญเสียเงินไปอย่างเปล่าประโยชน์หรือเกิดข้อผิดพลาดจนทำให้ธุรกิจหยุดชะงักจนไปถึงการปิดตัวลงไปเลยก็ได้
ซึ่งการเก็บข้อมูลในปัจจุบันก็มีหลากหลายแบบหลากหลายวิธี และแต่ละวิธีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมถึงการนำข้อมูลไปใช้ที่แตกต่างกันออกไป โดยในบทความนี้เราจะขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักการเก็บข้อมูลว่ามีกี่วิธี? อะไรบ้าง? พร้อมยกตัวอย่างการเก็บข้อมูลแต่ละวิธีให้ทุกท่านเห็นภาพกันแบบชัด ๆ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน!
วิธีของการเก็บข้อมูลในปัจจุบันมี 4 ประเภทดังนี้
ภาพจาก Bloomreach
Zero-Party Data (ข้อมูลศูนย์กลาง)
เป็นการเก็บข้อมูลโดยตรงจากลูกค้าที่เต็มใจมอบให้กับแบรนด์ผ่านการทำแบบสำรวจ แบบสอบถามที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการ การตอบคำถามจากการเล่นเกมที่ธุรกิจหรือแบรนด์จัดขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลลูกค้ามา การตั้งค่าความยินยอมก่อนที่จะสมัครเป็นสมาชิกบนเว็บไซต์ แอปพลิเคชันหรือโปรแกรมสะสมคะแนนต่าง ๆ
ตัวอย่าง Zero-Party Data
- ลูกค้าบอกไซส์และสไตล์เสื้อผ้าที่ต้องการตอนสมัครสมาชิกเพื่อสะสมคะแนนของร้านขายเสื้อผ้า
- ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องโปรดในช่องทางสตรีมมิ่ง
- การเลือกประเภทอาหาร “มังสวิรัติ” ในแอปพลิเคชันส่งอาหาร
ข้อดีของ Zero-Party Data
- เป็นข้อมูลเชิงลึกที่มีความแม่นยำ เนื่องจากลูกค้าเป็นผู้ให้ข้อมูลโดยตรง จึงสะท้อนถึงความชอบและความสนใจที่แท้จริงของลูกค้าได้
- ความปลอดภัยในการใช้งานสูง เพราะลูกค้ายินยอมและให้สิทธิ์ในการรวบรวมข้อมูลกับแบรนด์อย่างชัดเจน
- ข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาจะช่วยให้คุณสามารถสร้างความไว้วางใจและความภักดีกับลูกค้าได้ง่ายและดียิ่งขึ้น
- ข้อมูลเชิงลึกจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ Personalized กับลูกค้า เป็นการยกระดับการมีส่วนร่วมให้ดีขึ้น และยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของแคมเปญการตลาดให้กับแบรนด์ของคุณ
ข้อเสียของ Zero-Party Data
- เป็นข้อมูลที่ต้องอาศัยการให้ข้อมูลจากลูกค้า ซึ่งบางครั้งอาจจะได้มาไม่ครบถ้วน
- แบรนด์ต้องใช้ความพยายามและเวลาในการรวบรวมข้อมูล ต้องสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าแบ่งปันข้อมูลให้กับแบรนด์ให้ได้
First-Party Data (ข้อมูลปฐมภูมิ)
เป็นการเก็บข้อมูลที่แบรนด์ได้รวบรวมมาจากลูกค้าโดยตรงผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่มีด้วยตัวเอง เพื่อให้แบรนด์สามารถระบุตัวตน พฤติกรรม ความต้องการ และประวัติของลูกค้า ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าแต่ละคนได้
ตัวอย่าง First-Party Data
- ประวัติการซื้อสินค้า ยอดชำระ และวันที่ลูกค้าซื้อสินค้าบนช่องทางร้านค้าออนไลน์
- พฤติกรรมการเข้าดูเว็บไซต์ ระยะเวลาที่อยู่ในหน้าจอของลูกค้าบนเว็บไซต์บริษัทจองตั๋วเครื่องบิน
- จำนวนครั้งที่ลูกค้าเปิดแอปฟิตเนสและการคลิกวิธีที่ต้องการออกกำลังกาย
ข้อดีของ First-Party Data
- ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์และมีรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและความชอบของลูกค้า
- แบรนด์เป็นเจ้าของข้อมูลนี้โดยตรง สามารถควบคุมวิธีการใช้ข้อมูลได้ตามความต้องการ
- ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการได้รับข้อมูลเหล่านี้มา
- สามารถนำข้อมูลมาสร้างการตลาดที่เฉพาะตัว แบ่งกลุ่มลูกค้า เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และปรับประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานได้
ข้อเสียของ First-Party Data
- ต้องให้ความสำคัญกับมาตรการในการรวบรวมข้อมูลจะต้องมีความโปร่งใสและเป็นไปตามกฎระเบียบ
- แบรนด์ต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรวบรวม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มา
- ข้อมูลอาจไม่สะท้อนถึงแนวโน้มของตลาดผู้บริโภคในวงกว้างได้
Second-Party Data (ข้อมูลทุติยภูมิ)
เป็นการเก็บข้อมูลที่แบรนด์ของเราไม่ได้รวบรวมด้วยตัวเอง แต่เป็นการแชร์และแบ่งปันข้อมูลกันระหว่างสองบริษัทที่เป็นพันธมิตรหรือพาร์ทเนอร์ของคุณ ผ่านข้อตกลงที่ตกลงกันไว้ เพื่อเพิ่มมูลค่าและประสบการณ์ให้กับลูกค้าของทั้งสองแบรนด์ให้ดียิ่งขึ้น
ตัวอย่าง Second-Party Data
- ธนาคารแบ่งปันพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้า (ได้รับอนุญาต) กับที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อแนะนำการลงทุน
- ฟิตเนสแห่งหนึ่งแบ่งปันข้อมูลให้กับธุรกิจอาหารสุขภาพ เพื่อให้จัดเตรียมมื้ออาหารที่จะมาวางขายให้เหมาะสมกับผู้ที่ใช้บริการฟิตเนสแห่งนั้น ๆ
- บริษัทให้บริการรถสองที่ร่วมมือกัน เพื่อระบุพื้นที่ที่มีความต้องการสูงในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนโดยดูจากข้อมูลผู้ใช้งาน
ข้อดีของ Second-Party Data
- เข้าถึงฐานข้อมูลลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ที่ได้จากพาร์ทเนอร์และพันธมิตรที่เชื่อถือได้ เพื่อนำมาปรับให้แคมเปญการตลาดของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- ความแม่นยำที่เพิ่มมากขึ้น จากการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์
- ด้านความคุ้มค่าถือว่าถูกกว่าการซื้อข้อมูลจาก Third Party และมีความปลอดภัยในการใช้งานที่สูงกว่า
ข้อเสียของ Second-Party Data
- ต้องใช้ความพยายามในการค้นหาพันธมิตรพาร์ทเนอร์ที่เชื่อถือได้และให้ความร่วมมือที่ดี
- ต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูล การนำข้อมูลมาใช้ตามมาตรการความเป็นส่วนตัว
Third-Party Data (ข้อมูลตติยภูมิ)
เป็นการเก็บข้อมูลที่คุณซื้อมาจากบุคคลที่สามหรือบริษัทที่รวบรวมข้อมูลมาจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาแบ่งกลุ่มและทำแคมเปญการตลาดให้เข้ากับกลุ่มลูกค้านั้น ๆ ไม่ได้รวบรวมข้อมูลมาจากลูกค้าของเราเองโดยตรง
ข้อมูลประเภทนี้มักจะเป็นข้อมูลแบบภาพกว้าง เช่น ชื่อ-นามสกุล อายุ เพศ รายได้ ความสนใจ เป็นต้น ซึ่งจริง ๆ แล้วข้อมูลประเภทนี้เป็นข้อมูลที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากในปัจจุบันความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสิ่งที่คนให้ความสำคัญ ดังนั้นการที่คุณจะเลือกซื้อข้อมูลมาจากที่ใด ต้องให้มั่นใจว่าพวกเขาเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นมาอย่างถูกกฏหมายจริง ๆ
ตัวอย่าง Third-Party Data
- ข้อมูลประชากร (อายุ สถานที่ รายได้) ที่ซื้อจากผู้ให้บริการข้อมูลเพื่อนำมากำหนดเป้าหมายโฆษณาออนไลน์ของบริษัท
- ร้านอาหารซื้อข้อมูลลูกค้าจากแอปส่งอาหาร เพื่อนำมาวิเคราะห์เกี่ยวกับความชอบและประเภทอาหารในเมืองนั้น ๆ
- ธุรกิจซอฟต์แวร์ Martech ซื้อข้อมูลลูกค้าที่ตำแหน่งหรืออยู่ในสายงานด้าน Marketing ของแต่ละบริษัทจากผู้ให้บริการ เพื่อมองหาลูกค้าที่สนใจใช้งานซอฟต์แวร์ของเขา
ข้อดีของ Third-Party Data
- ได้ข้อมูลมาง่าย จากผู้ให้บริการข้อมูลที่หลากหลาย
- อาจเป็นวิธีที่ถูกที่สุด ในการได้มาของข้อมูลจำนวนมาก
- เข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภคได้กว้างขึ้น สามารถทำความเข้าใจแนวโน้มของตลาดทั่วไปโดยรวมเพื่อนำมาผสานกับข้อมูลที่แบรนด์มีอยู่
ข้อเสียของ Third-Party Data
- ข้อมูลอาจมีความล้าสมัย ไม่ถูกต้อง หรือมีข้อมูลจำนวนมากที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์
- การซื้อข้อมูลของบุคคลที่สาม (Third Party) มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดข้อถกเถียงทางด้านจริยธรรมและมาตรการเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค
- แบรนด์ไม่สามารถควบคุมหรือจัดการวิธีในการรวบรวมข้อมูลได้
ตามที่เราได้พูดไว้ตั้งแต่ข้างต้น การเก็บข้อมูลแต่ละประเภทมีข้อดี ข้อเสีย และการนำไปใช้ที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นคุณจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิธีการเก็บข้อมูลทั้งหมดให้ดี เพื่อจะได้นำข้อมูลแต่ละประเภทมาปรับใช้และผสมผสานให้เหมาะสมกับแคมเปญการตลาด เพื่อสร้างประสบการณ์การมีส่วนร่วมที่ยอดเยี่ยมระหว่างแบรนด์กับลูกค้าของคุณได้อย่างราบรื่น
ซึ่งหากท่านใดที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วต้องการหาวิธีที่จะช่วยเก็บข้อมูลลูกค้าให้กับแบรนด์ที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย สามารถติดต่อ Demeter ICT เรามีทีมผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้คำปรึกษาคุณทั้งในเรื่องของการเก็บ Data ของลูกค้ารวมถึง สามารถแนะนำเครื่องมืออย่าง Braze ที่จะช่วยให้คุณสามารถเก็บ Data ของลูกค้าแบบ 360 องศา พร้อมกับการสร้าง Marketing Automation แบบ Real-time ได้ในแพลตฟอร์มเดียว
แห่ลงอ้างอิง: Mailchimp, Epsilon, Clearcode, Bloomreach
ซอฟต์แวร์เพื่อการตลาด เพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ของคุณ
บริษัท ดีมีเตอร์ ไอซีที จำกัด – Your Business Transformation Partner
ผู้ให้บริการ Braze ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
Line@ : @dmit