API ศัพท์นี้สำหรับใครหลายคนอาจดูไกลตัวไปบ้าง แต่เชื่อไหมว่าเกือบทุกอย่างรอบตัวเราล้วนมีเบื้องลึกเบื้องหลังมาจาก API ทั้งสิ้น
ถึงขั้นกล่าวได้ว่า API เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ก้าวกระโดด นำมาสู่นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยและหลากหลายมากขึ้นในทุกวันนี้เลยก็ว่าได้
แท้จริงแล้ว API คืออะไร? ทำงานอย่างไรกันแน่ ในบทความนี้ เราจะมาหาคำตอบกัน
API คืออะไร?
API ย่อมาจาก Application Programing Interface แปลความหมายแบบตรงตัว คือ การเชื่อมต่อโปรแกรมประยุกต์ ในบริบทนี้ คำว่า “Application” หมายถึงทุกซอฟต์แวร์ที่มีฟังก์ชันชัดเจน และ “Interface” ก็คือตัวประสาน
API จึงหมายความถึงกลไกหนึ่งที่ใช้เชื่อมต่อโปรแกรมสองตัวเข้าด้วยกัน
ยกตัวอย่างระบบซอฟต์แวร์ขององค์กรด้านอุตุนิยมวิทยานั้นประกอบด้วยข้อมูลสภาพอากาศรายวัน แอปพยากรณ์อากาศในโทรศัพท์มือถือของเราก็จะใช้ API ทำการ “สื่อสาร” ไปยังซอฟต์แวร์ตัวนี้ จากนั้นก็นำข้อมูลสภาพอากาศรายวันมาอัปเดตในโทรศัพท์มือถือ
เช่นเดียวกันกับแอปสั่งอาหารที่จะใช้ API ดึงข้อมูลแผนที่จาก Google Map ทำให้สามารถใช้แผนที่นี้ได้โดยไม่ต้องลงทุนสร้างแผนที่ใหม่ขึ้นมาเอง
API ทำงานอย่างไร?
เรามักนิยามการทำงานของ API ในรูปแบบของ ‘ผู้ให้บริการ (Servers)’ กับ ‘ผู้ใช้บริการ (Clients)’ โดยฝ่ายที่ส่งคำขอเป็นผู้ใช้บริการ ขณะที่ฝ่ายที่ตอบรับคำขอเป็นผู้ให้บริการ
ดังตัวอย่างที่ยกมานั้นแอปพยากรณ์อากาศเป็นผู้ใช้บริการ ส่วนองค์กรเจ้าของซอฟต์แวร์ที่มีข้อมูลสภาพอากาศรายวันก็เป็นผู้ให้บริการนั่นเอง
ตั้งแต่อดีต API ก็ได้มีการพัฒนาเรื่องรูปแบบการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ SOAP APIs ที่มีความยืดหยุ่นน้อย เน้นการเข้าถึงอย่างง่าย ตลอดจนถึงรูปแบบของ API ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบันอย่าง REST APIs
REST APIs ถือเป็น API ที่ยืดหยุ่นมากที่สุด ตัวอย่างซอฟต์แวร์ที่ใช้ REST APIs ก็คือ Zendesk
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นจะขอยกตัวอย่าง Zendesk Support ซึ่งเป็นฟีเจอร์หนึ่งของ Zendesk โดย Zendesk Support เป็นส่วนของซอฟต์แวร์ที่จะช่วยเชื่อมต่อให้องค์กรใกล้ชิดกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น มีหลายอย่างที่ Zendesk Support สามารถทำได้ อย่างเช่น
- Create tickets (สร้างใบสั่งงานเมื่อมีลูกค้าติดต่อเข้ามา ทำให้พนักงานให้บริการได้เร็วขึ้น ไม่ตกหล่น)
- Add & update users (เพิ่มและอัปเดตสถานะของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งาน)
- Create groups (สร้างกลุ่มต่าง ๆ)
- Suspend users (ตั้งค่าระงับผู้ใช้งาน)
- Mark comments as private (ตั้งแสดงความคิดเห็นให้เป็นแบบส่วนตัว)
- Customize your Help Center (ปรับแต่งศูนย์ช่วยเหลือ)
- และอื่น ๆ อีกมากมาย
ฟังก์ชันการทำงานเหล่านี้ล้วนมีอยู่ใน API ของ Zendesk Support กล่าวได้ว่า API ก็คือกลุ่มรวมฟังก์ชันที่ซอฟต์แวร์สามารถทำได้เลยก็ว่าได้ เมื่อเชื่อมต่อไปยัง API ได้แล้ว เราก็จะได้อำนาจในการทำสิ่งที่ API เหล่านั้นทำได้เช่นกัน
ประเภทของ API
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะเปิด API ให้ผู้อื่นสามารถเรียกใช้ได้ เราสามารถแบ่งประเภทของ API ได้ 4 ประเภท
- Private APIs เป็น API สำหรับเรียกใช้ภายในองค์กร
- Partner APIs เป็น API สำหรับพาร์ทเนอร์ มีเพียงนักพัฒนาภายนอกที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้
- Public APIs เป็น API ที่บุคคลภายนอกสามารถใช้งานได้ อาจมีค่าใช้จ่ายบางส่วนที่เกี่ยวข้อง
- Composite APIs เป็น API ที่นำ API หลากหลายแบบมาผสานรวมกันเพื่อให้ตอบสนองความต้องการใช้งานที่สลับซับซ้อน
แนวคิดเรื่อง API เกิดขึ้นมานานตั้งแต่ปี 1940 เริ่มมีการใช้งานในช่วงปี 2000 และเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีทีท่าจะลดลง ดังนั้นทุก ๆ ปีเราจะมี API ใหม่ ๆ ออกมาให้ใช้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Financial ที่เป็นอุตสาหกรรมที่มี API เปิดให้คนนอกเรียกใช้ได้มากที่สุด
Source: develops digest
สรุปประโยชน์ของ API
ประโยชน์ของ API โดยเฉพาะอย่างยิ่ง REST API มีหลายอย่าง เช่น
1. Integration (ด้านการผสานรวม)
- รวมแอปพลิเคชันใหม่กับระบบซอฟต์แวร์เดิมที่มีอยู่แล้ว ช่วยให้การพัฒนาระบบทำได้ไวและง่ายขึ้นเพราะไม่ต้องเริ่มต้นสร้างใหม่ทั้งหมด
2. Innovation (ด้านนวัตกรรม)
- รูปแบบที่ยืดหยุ่น ง่ายต่อการนำไปต่อยอดของ API ช่วยให้มีธุรกิจรูปแบบใหม่และนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย
3. Expansion (ด้านการปรับขยาย)
- API ทำให้การปรับขยายองค์กรหรือแม้แต่การต่อยอดธุรกิจทำได้ง่ายขึ้น
4. Maintenance (ด้านการบำรุงรักษา)
- API เป็นเหมือนทางเชื่อมระหว่างระบบ ซึ่งสามารถเลือกปรับปรุงระบบไปทีละส่วนได้ ทำให้ส่วนอื่นที่เหลือไม่ได้รับผลกระทบ
อีกหนึ่งตัวอย่างของ API ที่น่าสนใจก็คือ Zendesk Sunshine “ตัวกลางเชื่อมทุกอย่าง” แบบ Out of the box ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย ระบบหลังบ้าน แอปพลิเคชันและข้อมูลลูกค้าทั้งหมดให้อยู่ในหน้าเดียว ช่วยให้พนักงานทำงานง่ายและทำให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น
และหากว่าองค์กรของคุณกำลังมองหาเครื่องมือที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจ พัฒนาการบริการลูกค้าและการทำงานภายในองค์กร เราก็ได้รวมข้อมูลและบทความที่คุณอาจจะสนใจ ดังนี้
Suggested for You
แหล่งที่มา : zendesk, aws amazon, develops digest